งานอบรมระยะสั้น
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

หลักสูตรการอบรมระยะสั้น 

เรื่อง “R2R Workshop Series – ก้าวไปด้วยกันกับงาน R2R    
  ระหว่างเดือนตุลาคม 2567 - กุมภาพันธ์ 2568 (จำนวน 3 ครั้ง ครั้งละ 2 วัน)

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม  มหาวิทยาลัยมหิดล

--------------------------------------------------

ชื่อโครงการ :  การอบรมระยะสั้น ประจำปี 2568  เรื่อง R2R Workshop Series – ก้าวไปด้วยกันกับงาน R2R

หน่วยงานรับผิดชอบ :  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้รับผิดชอบ :  ว่าที่ร้อยตรี นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์ นักปฏิบัติการวิจัย (ผู้เชี่ยวชาญ) และทีม

     

หลักการและเหตุผล :     

การทำงานวิจัยจากงานประจำ หรือทำงานประจำจนเป็นงานวิจัย R2R (Routine to Research) เป็นการมุ่งเน้นที่การนำกระบวนการหรือระเบียบวิธีการวิจัยไปพัฒนาการทำงานประจำให้ดีขึ้น สนับสนุนการทำงานเป็นทีมที่เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในสถานการณ์จริง ที่ทุกคนมีส่วนร่วมและเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งตนเองและไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบได้ การทำงานวิจัยจากงานประจำไม่เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่เน้นที่กระบวนการการเรียนรู้เพื่อพัฒนางานประจำให้ดียิ่งขึ้น เป็นการเรียนรู้การออกแบบการวิจัย เรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่การตั้งคำถามที่ดี เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่กว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น เรียนรู้ที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและเกิดทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้ที่จะนำเครื่องมือใช้เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาและพัฒนางานได้ และที่สำคัญคือเรียนรู้คุณค่าของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีแรงจูงใจ คือ เป้าหมายร่วมกันที่จะให้การทำงานหรืองานบริการที่ทำอยู่นั้น ดีขึ้นกว่าเดิม การทำงาน R2ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบียบวิธีวิจัยและระเบียบทางสถิติที่ซับซ้อน แต่ต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ น่าเชื่อถือ และสามารถใช้ผลที่ได้จากการทำงาน R2R นั้นมาพัฒนางานประจำที่ตนเองรับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น

 

การทำวิจัยของงาน R2ที่ดีต้องมาจากผู้ทำวิจัยต้องเป็นผู้เผชิญหน้ากับปัญหาในงานประจำนั้นอยู่เป็นประจำในทุกๆ วัน ควรมีรวมกลุ่มผู้เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำงานให้เป็นทีม เพื่อช่วยกันสะท้อนปัญหาและร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนา เพื่อให้แน่ชัดว่าการทำงานวิจัย R2R นั้น จะสามารถนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาทำให้การทำงานและการบริการให้มีคุณภาพดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือผู้รับบริการมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น และสำคัญที่สุด คือ งานวิจัย R2เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ต้องนำผลลัพธ์กลับมาใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางานได้จริงๆ ดังนั้น แนวคิดการพัฒนางานวิจัยจากงานประจำ จึงเกิดการพัฒนาขึ้นเพื่อลดช่องว่างการดำเนินงาน จากการส่งเสริมให้นำผลงานไปพัฒนา หรือแก้ปัญหาในงานที่รับผิดชอบ ให้มีการขยายผลข้ามหน่วยงาน หรือเผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติ หรือต่อยอดการวิจัยให้มีความลุ่มลึกขึ้น จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ทั้งนี้ประเภทงานวิจัยสามารถดำเนินการได้ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพจากเดิมที่การทำ R2เพียงเพื่อต้องการแก้ปัญหาหน้างานให้เกิดประโยชน์ต่อผู้รับบริการ ชุมชน สังคม

 

อย่างไรก็ตาม การผลิตผลงานทางวิชาการสำหรับบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการถือว่ามีความสำคัญต่อทั้งหน่วยงาน และความก้าวหน้าทางวิชาชีพส่วนบุคคลเพราะเป็นการผลิตผลงานอันเกิดมาจากปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงาน เพื่อนำผลลัพธ์นั้น ไปปรับปรุง แก้ไข รวมถึงพัฒนาการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรสายสนับสนุนได้มีโอกาสปฏิบัติงานจริง (workshop) โดยมุ่งหวังว่าการจัดกิจกรรมนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับบุคลากรสายสนับสนุน ได้รับทราบข้อมูลเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ แนวทางการเตรียมความพร้อม เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดและหลักการของ R2R และ สามารถนําความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานประจําไปสู่การทํางานวิจัยได้ด้วยตนเอง

 

การจัดอบรมในครั้งนี้จึงเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรสายสนับสนุนได้เรียนรู้ พัฒนาการทำงานวิจัย R2R ก้าวหน้าในสายอาชีพที่องค์กรวางไว้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคุณภาพในการทำงานของบุคลากรสายสนับสนุนควบคู่ไปกับการทำให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร การเติบโตและก้าวหน้าในสายอาชีพจะช่วยสร้างแรงจูงใจและทำให้บุคลากรสายสนับสนุนรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและได้รับการยอมรับจากองค์กรในเส้นทางการทำงานให้มีความก้าวหน้าสูงขึ้น การพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้เกิดการเรียนรู้ที่ผสมผสานระหว่างการพัฒนาความรู้จากการทำวิจัย R2R ผู้ที่เข้าร่วมอบรมจะได้แนวทางในการทำวิจัย R2R เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization) อย่างเป็นรูปธรรม มีเอกสารที่แสดงว่ามีการนำผลงานวิจัย R2R ไปใช้จริง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการ การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย การใช้ประโยชน์เชิงชุมชน/สังคม และการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต

วัตถุประสงค์ :

  • เพื่อสนับสนุนบุคลากรสายสนับสนุนให้มีทักษะในการทำวิจัยและผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีมาตรฐานในระดับสากล
  • เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรสายสนับสนุนนำข้อมูลจากงานประจำมาวิเคราะห์ให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปพัฒนางานให้มีคุณภาพ
  • เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในสายอาชีพ การเตรียมความพร้อม กระบวนการ ขั้นตอน และเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดตำแหน่งที่สูงขึ้นของบุคลากรสายสนับสนุน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ :

  • บุคลากรสายสนับสนุนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงาน  R2R 
  • บุคลากรสายสนับสนุนสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปทำงานR2ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร
  • บุคลากรสายสนับสนุนสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปพัฒนางานประจำให้มีคุณภาพได้

เนื้อหาหลักสูตร :

เนื้อหาหลักสูตรแบ่งเป็น หัวข้อหลัก โดยแบ่งการอบรมเป็นลักษณะ Episode ดังนี้ 

 

Episode 1: ก้าวแรก เริ่มให้ถูก : ตั้งโจทย์ R2R

หัวข้อการอบรม:

  • แนวคิดและกระบวนการในการทำ R2R
  • การเลือกปัญหา/การกำหนดปัญหาการวิจัย/การตั้งโจทย์วิจัยจากงานประจำ
  • การคิดหัวข้องานวิเคราะห์
  • การวิเคราะห์ปัญหาจากงานประจำและพัฒนาเป็นงานวิจัย

วัตถุประสงค์

  1. บุคลากรสายสนับสนุน มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัย R2R รวมถึงเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
  2. บุคลากรสายสนับสนุน สามารถกำหนดโจทย์ R2R ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนางานประจำได้จริง
  3. บุคลากรสายสนับสนุน มีแผนการทำงาน R2R ที่ชัดเจน

ผลผลิตที่คาดหวัง

  1. หัวข้อในการทำ R2R จากงานประจำ 
  2. รายละเอียดเบื้องต้นในการทำ R2R ได้แก่ วัตถุประสงค์ กลุ่มตัวอย่าง แหล่งข้อมูล และผลที่คาดว่าจะได้รับ

 

Episode 2 :  ก้าวต่อไป  เขียนให้เป็น

หัวข้อการอบรม:

  • การเขียนบท 1 – 3 

วัตถุประสงค์

  1. บุคลากรสายสนับสนุนมีความรู้ความเข้าใจการพัฒนาโครงร่าง R2R
  2. บุคลากรสายสนับสนุนสามารถออกแบบงานวิจัย เลือกเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย/วิเคราะห์ 

ผลผลิตที่คาดหวัง

บทที่ 1 – 3 ของงาน R2R 

 

 

Episode 3: ก้าวสุดท้าย  จบให้ได้ : ลงมือวิเคราะห์ R2R ให้สำเร็จ

หัวข้อการอบรม:

  • การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ
  • การเขียนบรรยาย การอภิปราย และการสรุปผลการศึกษา
  • การเขียนรายงานการวิจัย/การเขียนผลงานวิเคราะห์/การจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน

 

วัตถุประสงค์:

  1. บุคลากรสายสนับสนุนมีความรู้ความเข้าใจการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ
  2. บุคลากรสายสนับสนุนสามารถเขียนรายงานวิจัย เขียนผลงานวิเคราะห์ จัดทำคู่มือปฏิบัติงาน

ผลผลิตที่คาดหวัง: รายงานวิจัย/ผลงานวิเคราะห์/คู่มือปฏิบัติงาน

รูปแบบการจัด : รูปแบบออนไซต์

คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม : บุคลากรสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยมหิดล เท่านั้น

ค่าใช้จ่ายในการอบรม :

  •  ผู้เข้าอบรม มีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากต้นสังกัดได้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง  ตามหนังสือ ที่ กค 0409.6/ว.122 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2545 และหนังสือที่ กค.0409.6/ว.95 ลงวันที่ ตุลาคม 2549 สำหรับข้าราชการสามารถเข้าอบรมได้ โดยไม่ถือเป็นวันลา เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว 

ค่าลงทะเบียน 

สมัครเข้าอบรมจำนวน 3 ครั้ง ท่านละ 6,600.00 บาท (หกพันหกร้อยบาทถ้วน)

สมัครเข้าอบรมจำนวน 1 ครั้ง ท่านละ 2,800.00 บาท (สองพันแปดร้อยบาทถ้วน)

งบประมาณ :

          -  จากเงินรายได้สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล    
          -  จากค่าลงทะเบียนของผู้เข้าอบรม

ระยะเวลาการรับสมัคร :  ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ ตุลาคม 2567 

เงื่อนไขการชำระเงิน ชำระเงินได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2567

ติดต่อสอบถามได้ที่ งานอบรม อีเมล waiwingrob@gmail.com; warissara.kai@mahidol.edu  

โทรศัพท์ 0 2441 0201 ต่อ 301 มือถือ 06 1954 6282 และสามารถเข้าดูรายละเอียดการอบรมได้ที่

http://mis-ipsr.mahidol.ac.th/training/pages/user/index.php

การรับสมัครกรอกใบสมัครออนไลน์ได้ที่ mis-ipsr.mahidol.ac.th/training/pages/user/register.php

 

Download :  กำหนดการอบรมระยะสั้น "R2R Workshop Series – ก้าวไปด้วยกันกับงาน R2R"

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานอบรม โทรศัพท์ 0 2441 0201 ถึง4 ต่อ 301 โทรสาร 0 2441 9333
E-mail : waiwingrob@gmail.com,warissara.kai@mahidol.ac.th
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
www.ipsr.mahidol.ac.th